• เปิดทำการวันเวลาราชการ 08:00 - 16:00 น.

อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล อำนาจหน้าที่ของ อบต.
อบต. มีหน้าที่ตามพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วน ตำบล พ.ศ. 2537 และ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2542)
1.พัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (มาตรา 66)
2. มีหน้าที่ต้องทำตามมาตรา 67 ดังนี้
1)    จัดให้มีและบำรุงทางน้ำและทางบก
2)    การรักษาความสะอาดของถนน ทางน้ำ ทางเดินและที่สาธารณะ รวมทั้งการกำจัดขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล
3)    ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ
4)    ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
5)    ส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
6)    ส่งเสริมการพัฒนาสตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุและพิการ
7)    คุ้มครอง ดูแลและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
8)    บำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
9)    ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ทางราชการมอบหมาย

3.มีหน้าที่ที่อาจทำกิจกรรมในเขต อบต. ตามมาตรา 68 ดังนี้
1)    ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภคและการเกษตร
2)    ให้มีและบำรุงไฟฟ้าหรือแสงสว่างโดยวิธีอื่น
3)    ให้มีและบำรุงรักษาทางระบายน้ำ
4)    ให้มีและบำรุงสถานที่ประชุม การกีฬา การพักผ่อนหย่อนใจและสวนสาธารณะ
5)    ให้มีและส่งเสริมกลุ่มเกษตรกร และกิจการสหกรณ์
6)    ส่งเสริมให้มีอุตสาหกรรมในครอบครัว
7)    บำรุงและส่งเสริมการประกอบอาชีพ
8)    การคุ้มครองดูแลและรักษาทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
9)    หาผลประโยชน์จากทรัพย์สินของ อบต.
10)    ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม
11)    กิจการเกี่ยวกับการพาณิชย์
12)    การท่องเที่ยว
13)    การผังเมือง

                 อำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบลตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่เป็นการตัดอำนาจหน้าที่ของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ ในอันที่จะดำเนินกิจการใด ๆ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในตำบล แต่ต้องแจ้งให้องค์การบริหารส่วนตำบลทราบล่วงหน้าตามสมควร ในกรณีนี้หากองค์การบริหารส่วนตำบลมีความเห็นเกี่ยวกับการดำเนินกิจการดังกล่าว ให้กระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ นำความเห็นขององค์การบริหารส่วนตำบลไปประกอบการพิจารณาดำเนินกิจการนั้นด้วย
เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ให้องค์การบริหารส่วนตำบลมีสิทธิได้รับทราบข้อมูลและข่าวสารจากทางราชการในเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินกิจการของทางราชการในตำบล เว้นแต่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ทางราชการถือว่าเป็นความลับเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงแห่งชาติ
องค์การบริหารส่วนตำบลอาจออกข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อใช้บังคับในเขตองค์การบริหารส่วนตำบลได้เท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมายหรืออำนาจหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนตำบล ในการนี้จะกำหนดค่าธรรมเนียมที่จะเรียกเก็บและกำหนดโทษปรับผู้ฝ่าฝืนด้วยก็ได้ แต่มิให้กำหนดโทษปรับเกินหนึ่งพันบาท เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
                 ในส่วนของการบริหารงานนั้น องค์การบริหารส่วนตำบลมีการจัดแบ่งการบริหารงานออกเป็น สำนักงานปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล และส่วนต่าง ๆ ที่องค์การบริหารส่วนตำบลได้ตั้งขึ้น โดยมีพนักงานส่วนตำบลเป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน และองค์การบริหารส่วนตำบลสามารถขอให้ข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ไปดำรงตำแหน่งหรือปฏิบัติงานขององค์การบริหารส่วนตำบลชั่วคราวได้โดยไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้มีอำนาจอนุญาตได้ตามความจำเป็น และในกรณีที่เป็นข้าราชการซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้กระทรวงมหาดไทยทำความตกลงกับหน่วยงานต้นสังกัดก่อนแต่งตั้ง
นอกจากนั้นองค์การบริหารส่วนตำบลอาจทำกิจการนอกเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหรือร่วมกับสภาตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น เพื่อกระทำกิจการร่วมกันได้ ทั้งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากสภาตำบลองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง และกิจการนั้นเป็นกิจการที่จำเป็นต้องทำและเป็นการเกี่ยวเนื่องกับกิจการที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน

อำนาจหน้าที่ตามแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจ
                 พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ. 2542 กำหนดให้ อบต.มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดระบบการบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามมาตรา 16 ดังนี้
1)    การจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
2)    การจัดให้มี และบำรุงรักษาทางบกทางน้ำ และทางระบายน้ำ
3)    การจัดให้มีและควบคุมตลาด ท่าเทียบเรือ ท่าข้าม และที่จอดรถ
4)    การสาธารณูปโภค และการก่อสร้างอื่นๆ
5)    การสาธารณูปการ
6)    การส่งเสริม การฝึก และการประกอบอาชีพ
7)    คุ้มครอง ดูแล และบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
8)    การส่งเสริมการท่องเที่ยว
9)    การจัดการศึกษา
10)    การสังคมสงเคราะห์ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาส
11)    การบำรุงรักษาศิลปะ จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น และวัฒนธรรมอันดีของท้องถิ่น
12)    การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัด และการจัดการเกี่ยวกับที่อยู่อาศัย
13)    การจัดให้มี และบำรุงรักษาสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ
14)    การส่งเสริมกีฬา
15)    การส่งเสริมประชาธิปไตย ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
16)    ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของราษฎรในการพัฒนาท้องถิ่น
17)    การรักษาความสะอาด และความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง
18)    การกำจัดมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และน้ำเสีย
19)    การสาธารณสุข การอนามัยครอบครัว และการรักษาพยาบาล
20)    การจัดให้มี และควบคุมสุสาน และฌาปนสถาน
21)    การควบคุมการเลี้ยงสัตว์
22)    การจัดให้มี และควบคุมการฆ่าสัตว์
23)    การรักษาความปลอดภัย ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และการอนามัย โรงมหรสพ และสาธารณสถานอื่นๆ
24)    การจัดการ การบำรุงรักษา และการใช้ประโยชน์จากป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
25)    การผังเมือง
26)    การขนส่ง และการวิศวกรรมจราจร
27)    การดูแลรักษาที่สาธารณะ
28)    การควบคุมอาคาร
29)    การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
30)    การรักษาความสงบเรียบร้อย การส่งเสริมและสนับสนุนการป้องกันและรักษาความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน
31)    กิจอื่นใด ที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

ประเภทของ อบต.
ปัจจุบันมีการแก้ไขประเภทของ อบต.แบ่งเป็น 3 ขนาด คือ 
1)    อบต.ขนาดใหญ่ 
2)    อบต.ขนาดกลาง 
3)    อบต.ขนาดเล็ก 
แต่เดิมนั้น อบต. แบ่งออกตามลำดับได้เป็น 5 ประเภทและมีจำนวนองค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ ประจำปี 2543ดังนี้
    อบต. ชั้นที่ 1 จำนวน อบต. 74 แห่ง
    อบต. ชั้นที่ 2 จำนวน อบต. 78 แห่ง
    อบต. ชั้นที่ 3 จำนวน อบต. 205 แห่ง
    อบต. ชั้นที่ 4 จำนวน อบต. 844 แห่ง
    อบต. ชั้นที่ 5 จำนวน อบต. 5196 แห่ง
    อบต. ชั้นที่ 5 จัดตั้งใหม่ (14 ธันวาคม 2542) จำนวน อบต. 349 แห่ง
    รวม อบต. ทั่วประเทศทั้งสิ้นจำนวน 6746 แห่ง

ระดับชั้นและเกณฑ์การแบ่งระดับองค์การบริหารส่วนตำบล
                 องค์การบริหารส่วนตำบล มีความสำคัญต่อท้องถิ่นเป็นอย่างมาก เพราะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด แต่ใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบท องค์การบริหารส่วนตำบลเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนระดับตำบล หมู่บ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย
                 ก่อนที่จะมีการยุบรวม อบต. เข้ากับราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น และตั้งสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเพิ่มมากขึ้นนั้น มีองค์การบริหารส่วนตำบลประมาณ 6,500 แห่ง (ณ วันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550) โดยมีการแบ่งระดับออกเป็น 5 ชั้น ตามระดับของรายได้ ดังนี้
1) อบต. ชั้น 1 รายได้ตั้งแต่ 20 ล้านบาทขึ้นไป 
2) อบต. ชั้น 2 รายได้ระหว่าง 12 - 20 ล้านบาท 
3) อบต. ชั้น 3 รายได้ระหว่าง 6 - 12 ล้านบาท 
4) อบต. ชั้น 4 รายได้ไม่เกิน 6 ล้านบาท 
5) อบต. ชั้น 5 รายได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท

                 ต่อมาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2547 ได้มีการยุบรวม อบต. เข้ากับราชการส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น และตั้งสภาตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลเพิ่มขึ้น ปัจจุบันจึงมีจำนวนองค์การบริหารส่วนตำบลจำนวนทั้งสิ้น 6,725 แห่งและมีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งกลุ่ม อบต. เป็น 3 ขนาด คือ
1) อบต.ขนาดใหญ่ (ส่วนใหญ่จะเป็น อบต. ชั้น 1 เดิม) 
2) อบต.ขนาดกลาง (ส่วนใหญ่จะเป็น อบต. ชั้น 2 และ อบต. ชั้น 3 เดิม) 
3) อบต.ขนาดเล็ก (ส่วนใหญ่จะเป็น อบต. ชั้น 4 และ อบต. ชั้น 5 เดิม)

โดยมีหลักเกณฑ์สำคัญที่ใช้แบ่งขนาด อบต. มี 5 เกณฑ์ที่สำคัญ ดังนี้
1) เกณฑ์ระดับรายได้
    (1) รายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนสูงกว่า 20 ล้านบาท เป็น อบต.ขนาดใหญ่ 
    (2) รายได้ไม่รวมเงินอุดหนุน 6-20 ล้านบาท เป็น อบต.ขนาดกลาง 
    (3) รายได้ไม่รวมเงินอุดหนุนต่ำกว่า 6 ล้านบาท เป็น อบต.ขนาดเล็ก
2) เกณฑ์ตัวชี้วัดด้านค่าใช้จ่ายบุคลากร
3) เกณฑ์ตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจและสังคม 
    (1) จำนวนพื้นที่ 
    (2) จำนวนประชากร 
    (3) จำนวนโครงสร้างพื้นฐาน 
    (4) จำนวนโรงฆ่าสัตว์ 
    (5) จำนวนตลาดสด 
    (6) จำนวนโรงงานนิคมอุตสาหกรรม 
    (7) จำนวนโรงเรียน 
    (8) จำนวนศูนย์พัฒนาเด็ก 
    (9) จำนวนโรงแรม 
    (10) จำนวนศาสนสถาน 
    (11) จำนวนสถานพยาบาล 
    (12) จำนวนศูนย์การค้า 
    (13) การประกาศให้ อบต. เป็นเขตควบคุมอาคาร 
    (14) การประกาศให้ใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อย 
    (15) จำนวนวัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องมือด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 
    (16) จำนวนวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือด้านการกำจัดขยะและสิ่งปฏิกูล 
    (17) จำนวนโครงสร้างส่วนราชการ 
    (18) จำนวนหน่วยกิจการพาณิชย์
4) เกณฑ์ตัวชี้วัดด้านประสิทธิภาพในการปฏิบัติ 
    (1) ประสิทธิภาพด้านการจัดเก็บรายได้ 
    (2) ประสิทธิภาพด้านการบริหารแผนงานและงบประมาณ 
    (3) ประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านงานบุคคล 
    (4) ประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้านการบริการ
5) เกณฑ์ตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาล 
    (1) หลักนิติธรรม 
    (2) หลักคุณธรรม 
    (3) หลักความโปร่งใส 
    (4) การมีส่วนร่วมของประชาชน 
    (5) หลักความรับผิดชอบ 
    (6) ความคุ้มค่า